ผู้ป่วยที่ต้องให้อาหารทางสายยาง เสี่ยงเกิดภาวะกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อน เป็นภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะไหลย้อนกลับมาในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร โดยผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว และคลื่นไส้ ซึ่งสาเหตุสำคัญหนึ่งมาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกต้องและการใช้ชีวิตที่เร่งรีบในสภาพสังคมปัจจุบัน หากปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรังและรักษาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเกิดหลอดอาหารอักเสบ แผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ แม้โอกาสเกิดจะไม่มากนักก็ตาม นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผู้ป่วยที่ต้องให้อาหารทางสายยางด้วย เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้ จึงต้องรับประทานอาหารในวิธีที่ผิดปกติ บางรายเมื่อให้อาหารทางสายยางเสร็จแล้ว ก็ให้ผู้ป่วยนอนทันที ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิดมาก เพราะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะกรดไหลย้อน หรืออาจจเกิดการสำลักอาหารได้ สำหรับผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อนจะรู้สึกจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ ปวดแสบปวดร้อนบริเวณอกบ่อยครั้ง มีอาการจุกเสียดแน่นคล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อย คลื่นไส้ อาจมีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ ไปจนถึงกลืนอาหารได้ลำบากนั่นเอง
ภาวะกรดไหลย้อน มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา เนื่องจากฤทธิ์ของกรดได้สร้างความระคายเคืองแก่หลอดอาหารไปถึงอวัยวะบริเวณทางเดินหายใจ ทำให้กลืนอาหารได้ลำบาก รู้สึกเจ็บ หรือมีเลือดออกในหลอดอาหาร รวมทั้งอาจเกิดภาวะหลอดอาหารตีบตัน อาจกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด ไอเรื้อรัง อีกทั้งยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหาร เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์บริเวณหลอดอาหาร ดังนั้นเราสามารถป้องกันการเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ โดยต้องปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่ควรรับประทานอาหารแล้วเข้าสนอนทันที ควรรอให้อาหารย่อยก่อนหรือควรรอ 30 นาที -1 ชั่วโมง แล้วค่อยนอน พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยในชีวิตประจำวันที่ไปกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้มากที่สุด รวมไปถึงการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอาจช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะกรดไหลย้อนให้น้อยลงได้ เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้ หรือผู้ป่วยที่ต้องให้อาหารทางสายยางให้อาหาร ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังจากให้อาหารทางสายยางเสร็จ ถึงแม้ว่าการให้อาหารจะเป็นการให้อาหารทางสายยาง แต่ภาวะกรดไหลย้อนก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน เพราะถ้าหากผู้ป่วยรับอาหารแล้วนอนทันที อาจจะเกิดผลเสียต่อร่างกายได้ และยังมีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดอาการกรดไหลย้อน ขณะให้อาหารทางสายยาง ผู้ป่วยควรนอนให้ศีรษะสูง 6-8 นิ้ว โดยใช้ท่อนไม้รองพื้นเตียงบริเวณด้านหัวเตียงที่ศีรษะนอนทับ การใช้หมอนหนุนให้สูงขึ้นจะไม่ได้ผลมากนัก เนื่องจากทำให้ลำตัวพับงอ
สำหรับการรักษาอาการกรดไหลย้อน ผู้ป่วยควรการปรับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตอาจช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ เช่น รับประทานอาหารในปริมาณที่พอดี ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ควรเข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร แต่ในบางรายแพทย์อาจรักษาด้วยการให้รับประทานยาในกลุ่มยับยั้งการหลั่งกรด เพื่อช่วยลดภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหาร หรือยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร เพื่อช่วยเพิ่มการบีบตัวของลำไส้มากขึ้น แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น การผ่าตัดซ่อมแซมกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร อาจเป็นอีกทางเลือกของผู้ป่วยในการป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปด้านบนอย่างผิดปกติ หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงนัก การออกกำลังกายโดยการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องก็จะช่วยให้การบีบรัดของกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารทำงานได้ดีขึ้น และวิธีสุดท้ายที่จะใช้ในการรักษา คือ การผ่าตัด ซึ่งเป็นการแก้ไขทางกายภาพที่บริเวณหลอดอาหารและกระเพาะอาหารเพื่อเพิ่มแรงกดดันที่บริเวณส่วนล่างของหลอดอาหาร ทำให้ลดภาวะไหลย้อนกลับลง อย่างไรก็ตาม SN Food อาหารเพื่อสุขภาพ ก็ขอแนะนำและสนับสนุนให้ทุกคนหันมาดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อให้มีร่างกายที่แข็งแรง สดใส และสามารถรับมือกับปัญหาต่าง ๆที่ต้องเจอในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ