สูตรอาหารปั่นผสม สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่พบบ่อยมากในผู้สูงอายุ โรคหลอดเลือดสมอง หรือ เราเรียกกันว่า โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า STROKE ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองนี้ มีความรุนแรงสูง แม้ว่าไม่เสียชีวิต แต่ก็จะก่อให้เกิดความพิการในระยะยาว อาจต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นตลอดชีวิต
โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ
กลุ่มที่ 1 คือโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke ) ทำให้เซลล์สมองและเซลล์เนื้อเยื่ออื่น ๆ ขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาจจะเกิดจากภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ผนังหลอดเลือด เช่นไขมันและเกล็ดเลือด มาเกาะที่ผนังหลอดเลือดหรือการสร้างชั้นของผนังเซลล์หลอดเลือดที่ผิดปกติ ทำให้ผนังหลอดเลือดหนา และเสียความยืดหยุ่น ทำให้มีการตีบ หรืออุดตันของหลอดเลือดได้ นอกจากนี้ อาจจะเกิดจากลิ่มเลือดที่มาจากที่อื่น ๆ เช่น ลิ่มเลือดจากหัวใจ หรือจากหลอดเลือดแดงคาโรติดที่คอหลุดลอยมาอุดตันหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีอาการ ชา อ่อนแรงของแขนขาซีกใดซีกหนึ่ง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ซึ่งมักมีอาการหลังตื่นนอน หรือขณะทำกิจกรรม ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนแรงมากขึ้นและซึมลงภายใน 3 -5 วัน หลังมีอาการเนื่องจากสมองบวม
กลุ่มที่ 2 คือโรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) จะพบน้อยกว่าหลอดเลือดสมองตีบ แต่มีความรุนแรงมากกว่าซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ (1)เลือดออกในเนื้อสมอง (Intracerebral hemorrhage) ซึ่งจะพบลักษณะของลิ่มเลือดในสมอง (2) เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง (Subarachnoid hemorrhage) ผู้ป่วยจะมีเนื้อสมองที่บวมขึ้น และกดเบียดเนื้อสมองส่วนอื่น ๆ และทำให้การทำงานของสมองที่ถูกเบียดเสียไป
สาเหตุของหลอดเลือดสมองแตก อาจจะเกิดจากความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมองโป่งพอง เป็นต้น มักจะมีอาการปวดศีรษะทันที อาเจียนแขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว ชัก หรือหมดสติได้
ดังนั้น ถ้าใครป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จะมีภาวะกระทบต่อจิตใจด้วยทำให้เกิดอาการเครียดวิตกกังวล หดหู่ ซึมเศร้า และท้อแท้ได้ ดังนั้นโรคนี้แม้ว่าได้รับการรักษา แต่ผู้ป่วยอาจจะมีความพิการอัตราตายสูง และยังเป็นภาระต่อผู้ดูแลหรือครอบครัวอีกด้วย
ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดมาดูกันเลย ว่าควรจะดูแลตัวเราและคนในครอบผู้ป่วยไม่ให้เกิดโรคนี้ได้อย่างไร และโรคหลอดเลือดสมองนี้ยังเกี่ยวข้องกับโรคอื่นด้วยซึ่งต้องหาวิธีดูโรคที่จะมีผลกระทบ ต่อโรคหลอดเลือดสมองด้วย เช่นกันได้แก่
1.โรคความดันโลหิตสูง หมายถึงความดันโลหิตมากกว่า 140/ 90 มิลลิเมตรปรอท
2 เบาหวาน การควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
- ไขมันในเลือดสูง จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น
วิธีการปฏิบัติ เมื่อเรารู้ว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
- ลดการกินอาหารประเภทมันทอด ไขมันสูง
- ลดน้ำหนัก
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- เพิ่มกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
- งดสูบบุหรี่
- งดเหล้า สุรา เบียร์
- ลดความอ้วน เพราะโรคความอ้วนมีเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาไม่สามารถ กิน เคี้ยว หรือ กลืน ทางปากไม่ได้ แต่ระบบทางเดินอาหารทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมอาหารได้ดี ควรให้ผู้ป่วยได้รับอาหารทางสาย คือ มีลักษณะเป็นของเหลวที่ไม่มีกาก สามารถผ่านทางสายยาง เข้าสู่ร่างกายได้โดยไม่ติดขัด ซึ่งประกอบไปด้วยอาหารหลัก 5 หมู่ ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และมีคุณค่าของสารอาหารเพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วยแต่ละรายโดยเฉพาะ คาร์โบไฮเดรต โปรตีนและ ไขมัน เป็นต้น
สูตรอาหารปั่นผสม( Blenderized Formula)
สูตรนี้ใช้วัตถุดิบจากอาหาร 5 หมู่โดยเลือกเอาอาหารแต่ละหมู่มาทำให้สุกและปั่นผสมเข้าด้วยกันกรองเอากากออกซึ่งมีทั้งเนื้อสัตว์ผัก น้ำตาล และไขมัน
ต้องจัดอาหารให้มีสัดส่วนของอาหารดังนี้
โปรตีน 20 เปอร์เซ็นต์
ไขมัน 30 เปอร์เซ็นต์
คาร์โบไฮเดรต 50 เปอร์เซ็นต์
ประเภท เนื้อสัตว์ ที่ควรใช้ เช่น เนื้ออกไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา เลือกใช้เพียงหนึ่งอย่าง
ประเภทผัก เช่น ใบผักกวางตุ้ง ใบผักตำลึง ใบผักโขม ฟักทอง แครอท เป็นต้น
ถ้าผู้ป่วยมีเสมหะในลําคอ หรือปอดให้ดูดเสมหะให้หมดก่อนทุกครั้งที่จะให้อาหาร เพื่อป้องกันการไอและสำลักอาหาร
ทางSN อาหารเพื่อสุขภาพ เห็นว่าบทความนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วย และผู้ดูแล เป็นอย่างดี โดยเฉพาะถ้าทุกท่านได้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง จะสามารถป้องกัน หรือลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองเพื่อสุภาพที่ดีและมีชีวิตที่ยืนยาว