อาหารเพื่อสุขภาพ (HEALTHY FOOD)

เมื่อคนยุคใหม่หัดมาดูแลสุขภาพ ต่างก็ค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อจะได้นำสิ่งที่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกายและทำให้ตัวเองห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ บางคนอาจมุ่งเน้นเลือกกินอาหารธรรมชาติที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุดเพื่อคงไว้ซึ่งองค์ประกอบทางธรรมชาติของอาหารนั้นๆ ให้มากที่สุด แต่อาจเป็นการยากที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคในทันทีทันใดได้ จริงๆแล้วอาหารใช่จะว่ามีดีหรือไม่ดีไปทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการเลือกกิน

การผสมผสานให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมถูกต้องตามความต้องการของคนนั้นๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์มากที่สุด อาหารเพื่อสุขภาพ อาจพูดได้ว่า อาหารสุขภาพที่ดี (Healthy Food) ควรยึดหลักความสมดุล หลากหลาย และปริมาณที่เหมาะสมกับกิจกรรมการดำรงชีวิตของคนนั้นๆเป็นหลัก การกินอาหารสุขภาพแบบนี้จะทำให้คนรับประทานไม่รู้สึกถูกจำกัด หรือมีข้อแม้ในชีวิตมากเกินไป ถึงแม้ผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆ ซึ่งต้องควบคุมอาหาร ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรงเก้าท์ หรือโรคไต และอื่นๆ ได้มีทางเลือกและไม่ขาดความสุขในการกิน และยังสามารถควบคุมโรคได้อีกด้วย จากที่เรารู้ค่าการเผาผลาญพลังงานโดยปกติ (TDEE) เราสามารถนำมากำหนดอาหารที่จะนำเข้าสู่ร่างกายได้ สารอาหารที่จำเป็นสำหรับร่างกายมี 6 ชนิด แต่ละชนิดก็มีหน้าที่แตกต่างกันไป ทั้ง 6 ชนิดประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ เมื่อทราบถึงแหล่งวัตถุดิบที่ให้พลังงานแล้ว ก็จำเป็นต้องรู้หลักที่ต้องคำนึงในการทำอาหารสุขภาพ อันประกอบด้วย

  1. รับรู้พลังงานจากสารอาหาร (ปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับในแต่ละมื้อ) สารอาหารแต่ละประเภทจะให้พลังงานที่ไม่เท่ากัน เช่น
    – คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงาน 4 แคลอรี
    – โปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 แคลอรี
    – ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 แคลอรี
  2. เลือกวัตถุดิบที่นำมาปรุงเป็นอย่างดี วัตถุดิบที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นของราคาแพง แต่เราจะเน้นที่วัตถุดิบที่ให้สารอาหารจำเป็นต่อร่างกาย คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ได้จ่ายไป เช่น
    • เลือกคาร์โบไฮเดรตชนิดดีที่มีกากใยอาหารสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวหอมนิล ข้าวสังข์หยด ธัญพืชไม่ขัดสี ผักและผลไม้ ส่วนคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ดี ที่อยู่ในรูปของน้ำตาล ขนม และของหวานต่างๆ คอยหลีกเลี่ยง
    • เลือกโปรตีนจากเนื้อ ปลา หรือโปรตีนจากพืชเช่นถั่ว เพื่อช่วยลดไขมันในเลือด และยังสามารถป้องกันโรคหัวใจได้ โปรตีนที่มาจากเนื้อต่างๆ ไก่ ปลา ไข่และถั่วล้วนเป็นแหล่งโปรตีน วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินดี วิตามินเค เหล็ก สังกะสีและฟอสฟอรัส นอกเหนือไปจากนั้นหากรับประทานโปรตีนจากพืช เช่นถั่วต่างๆ ยังมีองค์ประกอบของวิตามินอี กรดโฟลิก เส้นใยอาหาร เพิ่มขึ้นอีกด้วย
    • ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และอาหารทอดกรอบ นมไขมันเต็ม เนื้อสัตว์ติดมัน เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงอย่างมาก เพราะหากทานในปริมาณมากจะไปเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและเพิ่มการอักเสบของหลอดเลือดได้ สำหรับไขมันดี เราสามารถหาได้จากปลาทะเล และถั่วเปลือกแข็ง นักวิชาการทางด้านโภชนาการแนะนำว่าทุกๆ 2000 แคลอรีที่ทานเข้าไป ควรจะมีไขมันดีประมาณ 27 กรัม (ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ) เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดทานตะวันเป็นต้น
  3. เน้นการบริโภคอาหารจำพวกผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และ/หรือ ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ
  4. รับประทานอาหารที่มีปริมาณเกลือหรือโซเดียมต่ำ แม้โซเดียมจะเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับชีวิต จำเป็นต่อการรักษาความสมดุลของของเหลวในร่างกาย นำสื่อประสาทถ่ายทอดไปยังส่วนต่างๆและช่วยในการย่อยอาหาร โดยปกติร่างกายเราควรได้รับโซเดียมอย่างน้อย 500 มิลลิกรัม สูงสุดไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม หากนึกไม่ออกว่าจำนวนดังกล่าวมีปริมาณเท่าไร ให้นึกถึงเกลือ 1 ช้อนชา น้ำปลาหรือซีอิ๊ว 1 ช้อนชา จะมีโซเดียมเฉลี่ย 400 มิลลิกรัม ถ้าสามารถลดปริมาณลงได้ก็จะลดความเสี่ยงการเพิ่มความดันโลหิตได้มากขึ้น

สิ่งสำคัญสุดท้ายสำหรับ อาหารสุขภาพคือการผลิต การปรุง และการเก็บรักษาที่สะอาดปลอดภัย ปราศจากการปนเปื้อน ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญ หากมองข้ามในจุดนี้ ก็อาจทำให้อาหารสุขภาพที่คิดว่าดีมีประโยชน์กลับกลายเป็นภยันตรายที่ย้อนกลับเข้าสู่ร่างกายแบบไม่รู้ตัว อย่าลืมนะอาหารที่อร่อยก็มาพร้อมสุขภาพที่ดีได้ ตามคอนเซ็ปต์ที่ว่า “Healthy and Yummy” J