ดูแลสุขภาพก่อนที่จะเป็นเกาต์ ด้วยอาหาร

เกาต์เป็นรูปหนึ่งของโรคข้ออักเสบ เกิดขึ้นเมื่อระดับกรดยูริกในร่างกายสูงกว่าปกติ กรดยูริกเป็นผลพลอยได้จากการที่ร่างกายสลายสารพิวรีน ซึ่งเป็นสารที่พบตามธรรมชาติในร่างกายและอาหารที่มาจากสัตว์หลายชนิดโดยเฉพาะเครื่องในสัตว์ โดยปกติกรดยูริกจะละลายในเลือดและส่วนเกินจะถูกนำออกไปขจัดทิ้งในไต เพื่อขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ แต่ถ้าร่างกายผลิตกรดยูริกมากเกินไปหรือขับกรดยูริกออกได้น้อยเกินไป กรดยูริกจะตกตะกอนเป็นผลึกรูปคล้ายเข็มและสะสมตาม ข้อ เข่า และหัวแม่เท้า ทำให้เกิดการเจ็บปวด อักเสบ และปวดตามข้อได้

 

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงเกิดโรคเกาต์ได้คือ

  1. วิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่ดี เพิ่มความเสี่ยงโรคเกาต์ เช่น เกิดจากการบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทอด อาหารไขมันสูง น้ำตาลสูง และดื่มแอลกอฮอล์มากเกินควร
  2. เกิดจากโรคอ้วนและการลดน้ำหนักเร็วเกินไป เหตุผลก็คือ ในขณะที่น้ำหนักลดลงร่างกายเริ่มทำการสลายเนื้อเยื่อ ทำให้มีการปลดปล่อยสารพิวรีนออกมามาก มีผลทำให้ร่างกายผลิตกรดยูริกออกมามากตามไปด้วย อาหารที่ไม่แนะนำให้กิน ได้แก่ เบคอน เครื่องในสัตว์ และอาหารทะเลบางชนิด เพราะมีสารพิวรีนสูงทำให้ระดับยูริกสูงขึ้น นอกจากนี้อาหารโปรตีนสูงหากกินเป็นระยะเวลานานจะทำให้ไตต้องทำงานหนัก ซึ่งอาจทำให้ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับกรดยูกริกได้
  3. เกิดจากโรคบางชนิดและยารักษาโรคบางชนิด อาจเร่งให้เกิดโรคเกาต์ได้เช่นโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษา โรคเบาหวาน ไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง หลอดเลือดตีบ แม้แต่การผ่าตัดอาการบาดเจ็บเฉียบพลันหรือรุนแรง และการพักฟื้นบนเตียงก็สามารถเพิ่มระดับกรดยูริกได้ เช่นเดียวกับการใช้ยาขับปัสสาวะรักษาโรค ความดันโลหิตสูง การใช้แอสไพรินในปริมาณต่ำๆ และยาที่ใช้ในผู้ป่วยเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งเพื่อทำลายเซลล์ที่ผิดปกติ จะทำให้สารพิวรีนถูกปลดปล่อยออกมาในกระแสเลือดปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดการสลายเป็นกรดยูริกมากขึ้น
  4. กรรมพันธ์ หนึ่งในสี่ของคนที่มีโรคเกาต์จะมีปัญหาทางกรรมพันธุ์ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการมีกรดยูริกสูง
  5. อายุและเพศ เกาต์เป็นโรคที่เกิดกับใครก็ได้ แต่มักจะเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง5 เท่า ทั้งนี้เพราะผู้หญิงจะมีระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่าผู้ชาย แต่หลังจากหมดประจำเดือนระดับยูริกจะสูงเท่ากับผู้ชาย

นอกจากนี้ผู้ชายมีแนวโน้มจะเกิดเกาต์ในช่วงอายุน้อยกว่าผู้หญิงคือเกิดในช่วงอายุ 30 ถึง 50 ปี ในขณะที่ผู้หญิงจะเกิด อาการหลังจากอายุ 50 ปีไปแล้ว

 

การรักษาเกาต์

ปัจจุบันการบำบัดเกาต์จะใช้ยาลดกรดยูริกเป็นหลัก ส่วนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแม้จะไม่รักษาเกาต์ให้หายขาดได้แต่ก็ช่วยลดลงลดอาการลงได้ในทางโภชนาบำบัดการเลือกบริโภคอาหารพิวรีนต่ำจะช่วยลดกรดยูริกในเลือดที่มาจากอาหารและเครื่องดื่มได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์

 

ข้อแนะนำคือ

  1. ดูแลน้ำหนักตัวอย่าให้อ้วน  เพราะความอ้วนเพิ่มความเสี่ยงโรคเกาต์ ขณะที่การลดน้ำหนักโดยลดพลังงานอาหารที่กินจะช่วยลดความเสี่ยงได้ แม้ว่าไม่ได้จำกัดอาหารที่มีสารพิวรีนสูงก็ตาม  การลดน้ำหนักจะช่วยลดภาวะที่ข้อต่อต้องทำงานหนัก  ถ้าจะต้องลดน้ำหนักไม่ควรลดเร็วเกินไป ควรลดทีละช้า ๆ  สัปดาห์ละ 0.5 ถึง 1 กิโลกรัม
  2. ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 8-16 แก้ว จะช่วยลดความเข้มข้นของกรดยูริกในเลือดและช่วยในการขับกรดยูริกออกรวมถึงป้องกันนิ่วในไต
  3. กินผัก ผลไม้ และธัญพืชเต็มเมล็ด เลี่ยงคาร์โบไฮเดรตชนิดขัดสี เช่น  ขนมปังขาว  เค้ก ลูกอม เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และผลิตภัณฑ์ที่เติมโฮฟรักโทสคอร์นไชรัป
  4. งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นักวิจัยเชื่อว่า กระบวนการสลายแอลกอฮอล์ในร่างกายเพิ่มการผลิตกรดยูริก และทำให้ร่างกายขาดน้ำ เบียร์เพิ่มความเสี่ยงโรคเกาต์
  5. เลี่ยงเครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ไต และตับอ่อน ซึ่งมีสารพิวรีนสูง และเพิ่มระดับกรดยูริกในเลือด
  6. เลี่ยงอาหารทะเลบางชนิด เช่นปลาแอนโซวี ปลาเฮร์ริ่ง ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล หอยแมลงภู่ หอยเชลล์ ปลาเทราต์ ปลาทูน่า  ซึ่งมีสารพิวรีนสูงเพิ่มยูริกในเลือดได้
  7. กินโปรตีนแต่พอควร แหล่งโปรตีนที่ดี ได้แก่ เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำหรือไขมัน 0 % ซึ่งมีส่วนช่วยลดระดับยูริกในเลือด กินถั่วและไข่เล็กน้อย จำกัดเนื้อสัตว์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นเนื้อล้วน ปลา หรือสัตว์ปีก วันละ 120 -180 กรัม (สุก) นอกจากนี้ควรเลาะหนังและมันออกก่อนกิน
  8. จำกัดอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวจากเนื้อแดง สัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์นมไขมันสูง เลี่ยงอาหารทอด จำกัดน้ำมันสลัดวันละ 3-6 ช้อนชา
  9. เลี่ยงอาหารมื้อใหญ่ โดยเฉพาะมื้อเย็น
  10. วิตามินซี วันละ 500 มิลลิกรัม อาจจะช่วยลดระดับกรดยูริกควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสริม
  11. กาแฟ มีงานวิจัยบางรายงานแนะว่า การดื่มกาแฟพอควรอาจมีส่วนในการลดความเสี่ยงโรคเกาต์  แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนดื่ม เพราะหากมีโรคร่วมอย่างอื่นอาจไม่ควรดื่ม
  12. เชอร์รี่ มีข้อมูลจากงานวิจัยว่าเชอร์รี่ อาจลดกรดยูริกซึ่งเป็นความเสี่ยงของอาการโรคเกาต์ได้

 

ด้วยความเป็นห่วงจาก  SN  Food  อาหารเพื่อสุขภาพ โรคเกาต์มักสัมพันธ์กับการมีโรคร่วมอื่นได้แก่ ภาวะไขมันสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอ้วน  ดังนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องรับการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคร่วมด้วยเสมอ ต้องลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักตัว ดื่มน้ำพอสมควร งดการดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับอาหารต้องจำกัดอาหารเพื่อควบคุมความดันโลหิต หรือไขมันเป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรจะต้องได้รับการประเมินการทำงานของไตและนิ่วของทางเดินปัสสาวะเสมอ

อาหารสายยาง, อาหารสุขภาพ, อาหารผู้ป่วย, อาหารเหลว