อาหารคลีน (CLEAN FOOD) ใครๆ ก็อยากลอง

ขึ้นชื่อว่า อาหารคลีน (Clean Food) หลายคนคงได้ยินกันบ่อยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มคนรักสุขภาพ อาหารคลีนไม่ใช่กินแต่สลัดผัก อาหารที่ผัดโดยใช้น้ำมันมะกอก ก็เรียกเป็นอาหารคลีนทั้งนั้น จริงๆแล้ว อาหารคลีนคือ อาหารที่มาจากวัตถุดิบธรรมชาติ นำมาผ่านการปรุงแต่งโดยผ่านกระบวนการที่น้อยที่สุด แต่ถ้าให้ดูลึกๆจริงๆแล้ว วัตถุดิบที่คัดสรรมาจำเป็นต้องมีคุณภาพ หลายคนต้องการลดน้ำหนัก เห็นสลัดที่จัดเป็นชุดๆ น่าทาน

เมื่อทานแล้วรู้สึกว่าวันนี้ได้ทานอาหารคลีนเข้าไปแล้ว สิ่งที่ได้แน่นอนคือคาร์โบไฮเดรตและเส้นใยจากผัก แต่สิ่งที่แฝงและอาจทำให้อาหารนั้นไม่คลีนจริงคือองค์ประกอบของสลัดนั้น เช่น ใส่ไส้กรอก เบคอน หมูยอ หรือที่มาของน้ำสลัดเอง ดังนั้นหาจะให้แน่ใจว่าได้รับอาหารคลีนจริง อาจต้องอาศัยการทำอาหารทานเองและเพ็งพินิจว่าแต่ละส่วนมาจากไหน ฟังดูอาจทำให้ชีวิตยุ่งยากขึ้น เพื่อให้การดำรงชีพเป็นไปอย่างปกติและรับประทานอาหารที่คลีนได้อย่างสบาย อาจต้องกลับมาดูวัตถุดิบให้เป็นว่าอะไรคลีนอะไรไม่คลีน อาหารที่ไม่คลีน คืออาหารที่เอาวัตถุดิบธรรมชาติไปผ่านการแปรรูปปรุงแต่งต่างๆนานเพื่อให้น่ากินและอร่อย เช่น

  • เนื้อสัตว์แปรรูป มีได้ต้องแต่ ลูกชิ้น ไส้กรอก โบโลน่า แฮม เบคอน กุนเชียง โดยเฉพาะพวกไก่บด เนื้อบดที่อัดแท่งขาย บางครั้งผู้ผลิตต้องการให้ผลิตภัณฑ์อร่อยจึงต้องมีการปรุงแต่งรสชาติและไขมันลงไปเพื่อให้เกิดความนุ่มเวลาทาน หากบางคนเคยทานกุนเชียงจะเห็นได้ชัดเจนว่า กุนเชียงไหนสีขาวๆ มีก้อนเล็กๆสีขาวๆ (ไขมัน) ปนอยู่เยอะ กุนเชียงนั้นจะนิ่มเวลานำไปทอดจะมีน้ำมันเยิ้มให้เห็น แต่ถ้าเป็นกุนเชียงที่มีมันน้อย เนื้อกุนเชียงก็จะแข็งกระด้าง
  • คาร์โบไฮเดรตขัดสี ด้วยความที่เรารับประทานข้าวขัดขาวมาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เกิดความเคยชิน สิ่งที่เรารับประทานเข้าไปเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานเร็ว หากใช้ไม่หมดก็จะแปลงเป็นไขมันสะสมกันต่อไป แถมส่วนที่มีประโยชน์เช่นไฟเบอร์และวิตามินก็ถูกขัดเกลี้ยงออกไป ดังนั้นข้าวที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี เช่นข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง หรือข้าวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงเช่น ข้าวหอมนิล ข้าวสังข์หยด เป็นสิ่งที่ควรหามาบริโภค
  • น้ำตาลขัดสี เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงยิ่งน้ำตาลทรายขัดขาว น้ำตาลฟอกสี น้ำเชื่อม ล้วนแล้วแต่จะเข้าสู่ร่างกายและรีบเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกาย แถมเพิ่มระดับน้ำตาลในกระแสเลือดอีก ในทางวิชาการ มีการกำหนดค่าดัชนีอัตราความเร็วการดูดซึมอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ที่เรียกว่า Glycaemic Index (GI) โดยปกติหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆนั้น น้ำตาลกลูโคสในเลือดจะพุ่งสูงขึ้น หลังพ้น 2 ชั่วโมงจึงกลับสู่สภาวะปกติ อะไรที่มีค่าดัชนีอัตราความเร็วการดูดซึมสูง (High GI) ผู้บริโภคก็จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหลังรับประทาน ในเรื่องนี้จะคุยให้ฟังอีกครั้ง
  • กรดไขมันทรานส์ หรือไขมันไม่ดี เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ได้แก่พวก มาการีน เนยขาว น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู ไขมันพวกนี้มีแต่โทษ เมื่อร่างกายมีไขมันส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น ตับทำงานผิดปกติ เสี่ยงต่อการโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันอุดตันในเส้นเลือดเป็นต้น
  • ขนมและเบเกอร์รี่ ศัตรูตัวร้ายสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก เพราะมีองค์ประกอบส่วนที่ต้องหลีกเลี่ยงครบ ไม่ว่า แป้งขัดขาว น้ำตาลขัดสี ไขมันไม่ดี ถามบางรายการผ่านการทอด ปรุงแต่งรสชาติด้วยผงชูรส โซเดียมในปริมาณมาก ทานเข้าไปแล้วต้องตามด้วยน้ำ ทำให้ตัวบวมกล้ามเนื้อดูดซึมน้ำเข้าไปมาก ตัวก็บวมตาม
  • อาหารรสชาติเค็มหรือที่มีปริมาณโซเดียมสูง ถึงแม้โซเดียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ผลเสียที่มีต่ออวัยวะภายในของร่างกายที่ตามมาก็มากตามไปด้วย ปริมาณที่นักโภชนาการแนะนำไว้คืออย่างน้อย 500 มิลลิกรัม สูงสุดไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม (เกลือ 1 ช้อนชา น้ำปลาหรือซีอิ๊ว 1 ช้อนชา จะมีโซเดียมเฉลี่ย 400 มิลลิกรัม) ถ้าสามารถลดปริมาณลงได้ก็จะลดความเสี่ยงการเพิ่มความดันโลหิตได้มากขึ้น
  • สารเคมีและสารกันบูดในอาหารสำเร็จรูป เทคโนโลยีการถนอมอาหารได้พัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก ผู้ผลิตสามารถเลือกที่จะไม่ใส่สารเคมีแต่ยังคงรักษาคุณภาพอาหารไว้ได้ แต่หากกรณีที่ผู้ผลิตต้องการลดต้นทุน อาจหันไปใช้สารเคมีหรือสารกันบูดเพื่อรักษาสภาพของอาหารไว้ สารต่างๆเหล่านี้มีผลต่อภาระตับ และไตทั้งนั้น เมื่อสะสมในร่างกายนานๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ดี

เชื่อว่าตอนนี้คนที่จะตัดสินใจรับประทานอาหารคลีน สามารถแยกแยะได้แล้วว่าอะไรคืออาหารคลีนจริงหรือไม่จริง นอกจากอาหารคลีนที่เราใฝ่ฝันจะหามารับประทานแล้วนั้น ความสมดุลของสารอาหาร ปริมาณที่เพียงพอต่อการดำรงชีพในแต่ละวัน ความสะอาดในการปรุงแต่งและบรรจุภัณฑ์ ย่อมเป็นปัจจัยเพิ่มที่อาจต้องนำมาคิดก่อนซื้อ อย่าลืมนะอาหารที่อร่อยก็มาพร้อมสุขภาพที่ดีได้ ตามคอนเซ็ปต์ที่ว่า “Healthy and Yummy”